Go to Top

บีแอลซีพีมอบเงินสนับสนุนให้กับวิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด ผลิตวิศวกรไฟฟ้าต่อเนื่อง

ข่าว และกิจกรรม

2020/02/15
บีแอลซีพีมอบเงินสนับสนุนให้กับวิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด-ผลิตวิศวกรไฟฟ้าต่อเนื่อง
11 กุมภาพันธ์ 2563 – โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี และภาคเอกชน สนับสนุนเงินทุน 10 ล้าน โครงการพัฒนาช่างเทคนิควิศวกรรมและเคมี และโครงการพัฒนาช่างเทคนิคสาขางานไฟฟ้าควบคุม วิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก

ณ ห้องประชุม 5 ชั้น 1 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้จัดพิธีลงนามความร่วมมือและรับมอบเงินสนับสนุนโครงการพัฒนาช่างเทคนิควิศวกรรมและเคมี และโครงการพัฒนาช่างเทคนิคสาขางานไฟฟ้าควบคุม ระหว่าง สอศ.และภาคเอกชน โดยมีนายวราวิช กำภู ณ อยุธยา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ที่ปรึกษา รมว.ศธ.) เป็น ประธานสักขีพยาน โดยนาง ปัทมา วีระวานิช รองเลขาธิ การคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (รองเลขาฯ กอศ.) กล่าวว่า โครงการพัฒนาช่างเทคนิควิศวกรรมเคมี หรือวี-เชฟ (V-ChEPC) และโครงการพัฒนาช่างเทคนิคสาขางานไฟฟ้าควบคุม (V-EsEPC) ของวิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด ประสบผลสำเร็จในการพัฒนานักศึกษาอาชีวะ กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ปิโตรเคมี และกลุ่มพลังงานไฟฟ้า ให้เป็นคนเก่งและดี เน้นกระบวนการเรียนรู้แบบ Constructionism ต้นแบบความร่วมมือและการเรียนรู้ เพื่อมุ่งพัฒนาทักษะชีวิตให้เชื่อมโยงกับโลกการทำงาน จบออกมาได้งานและรายได้ดี

โดยกลุ่มอุตสาหกรรมด้านปิโตรเลียม ปิโตรเคมี และกลุ่มพลังงานไฟฟ้า ได้ร่วมมอบเงินสนับสนุนในส่วนของโครงการพัฒนาช่างเทคนิควิศวกรรมเคมี และสนับสนุนโครงการพัฒนาช่างเทคนิคสาขางานไฟฟ้าควบคุม ประจำปี พ.ศ. 2563 รวมจำนวน 9,500,000 บาท ประกอบด้วย 1. บริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด 2. บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) 3. บริษัท เอสซีจี เคิมีคอลล์ จำกัด 4. กลุ่ม บริษัท ดาว ประเทศไทย 5. กลุ่มบริษัท อูเบะ (ประเทศไทย) 6. บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) 7. บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) 8. บริษัท บี. กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) และ 9. สมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน

นายยุทธนา เจริญวงศ์ (กรรมการผู้จัดการ โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี) กล่าวว่า “โครงการดังกล่าว เป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จมากในการพัฒนานักศึกษาช่างเทคนิคสาขางานไฟฟ้าควบคุม โดยมีรูปแบบการเรียนการสอนด้วยการพัฒนากระบวนการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์ด้วยปัญญา จัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 และที่สำคัญอีกประการ คือ เป็นการจัดอาชีวศึกษาในระบบทวิภาคี ที่มีการระดมทรัพยากร การวัดผลและประเมินผล ร่วมกับสถานประกอบการ รวมถึงการสร้างเส้นทางอาชีพ และการวิจัยและพัฒนาในการผลิตกำลังคนรองรับเขตพื้นที่ EEC มาอย่างเข้มแข็งต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ผู้สำเร็จการศึกษามีงานรองรับทั้งหมด 100% ”

บีแอลซีพีมุ่งมั่นสู่การเป็นต้นแบบที่ดีของโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศไทย
#BLCPCSR #ทำด้วยใจ